ช่วงเวลาเรียนปริญญาตรี อันที่จริงก็สมควรจะใส่ใจสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ แต่ผมใช้เวลาจำนวนหนึ่งนอกเหนือจากเกมและดนตรี ในการอ่านเรื่องราวความเจ็บปวดของสงคราม การลี้ภัย ตั้งแต่เรื่องเขมรแดง สงครามเวียตนามไปจนถึงการสังหารหมู่ที่นานกิง การสังหารหมู่ที่กรุงเทพไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง หนึ่งในหนังสือที่ตอนนั้นอ่านจบแล้วไม่กล้า ไม่อยากอ่านซ้ำคือบันทึกของแอน แฟรงค์

สำหรับคนที่ไม่รู้ เด็กหญิงแอนอายุ 13 ปี เกิดในครอบครัวยิวที่พ่อเป็นนักธุรกิจ แต่ต้องหนีเยอรมันมาฮอลแลนด์ และพ่อเขาสร้างอพาร์ทเมนต์ลับซ่อนอยู่หลังตึกออฟฟิศ แล้วพวกเขาต้องหลบแบบเงียบๆ อยู่ 2 ปี คน 8 คน อยู่แบบที่แคบๆ อาหารกระป๋อง

ความที่เด็กหญิงเขียนบันทึกลงสมุดจด และมีการถ่ายทอดความนึกคิดระดับอัจฉริยะ ทำให้พ่อเขาซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตคนเดียวใน 8 คนนี้ นำมาเผยแพร่ตีพิมพ์เป็นหนังสือ ตั้งหน่วยงานดูแลเนื้อหานี้ให้ดำรงต่อไป ยาวมาถึงปัจจุบัน มีละครเวที หนังสือกราฟฟิก เว็บไซต์ที่แสดงภาพห้องของทุกคน

คือเด็กหญิงที่เขียนเล่าเก่งแล้ว เขายังมีพ่อที่เก่งพอที่จะเอาเรื่องนี้มาขยายผลด้วย ไม่มีทั้งสองอย่างนี้ เรื่องราวคงไม่มีคนรับรู้ ว่ากันว่าคนรู้เรื่องราวของสงครามนี้จากมุมมองของเด็กหญิงแอน มากกว่ามุมมองของฮิตเลอร์อีก เท่ากับเรื่องนี้ควรเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่รัฐไทยควรแนะนำ แต่ก็ไม่ เหมือน 1984 ที่เด็กไทยควรอ่านแต่รัฐไทยไม่อยากแนะนำ ส่วนใครที่ไม่รู้จักเรื่องนี้ คุณเป็นคนที่ Ill-informed อย่างที่รัฐไทยต้องการเลยครับ เขาต้องการให้คุณรู้จักแต่คู่กรรมเท่านั้นพอ

ช่วงที่เกิด Covid-19 ที่เมืองผมมีการล็อคดาวน์สองครั้ง ครั้งแรกกินระยะเวลาเดือนกว่า ตอนนั้นผมพยายามจะจำลองสถานการณ์ว่าถ้าต้องเจอแบบครอบครัวแอน แฟรงค์ เราจะอยู่ยังไง แต่สถานการณ์ของผมตอนนั้นดีกว่าหน่อย ตรงที่มันไม่ใช่สงคราม อันที่จริงก็น่าขำในชะตากรรมของมนุษย์ เพราะ Covid ยังไม่จางหาย เราเกิดสงครามเต็มรูปแบบอีกรอบอีก

ถ้ายังไม่เคยอ่าน อ่านตอนนี้ยังไม่สาย มีทั้งแบบ text และกราฟฟิก แบบหลังอ่านง่ายกว่า มีแปลไทยทั้งสองแบบ

ภาพ: Anne Frank จากเว็บไซต์ annefrank.org ในนั้นมีภาพห้องให้ชมแบบ 360 มีรายละเอียดต่างๆ เหมือนเราอยู่ห้องนั้นจริงๆ